Deepsea Challenge

นาฬิกาสำหรับนักดำน้ำอันทรงประสิทธิภาพ

Deepsea Challenge

Deepsea Challenge พัฒนามาจากนาฬิการุ่นทดลองที่ James Cameron ใช้ในการดำดิ่งสู่ความลึก 10,908 เมตร (35,787 ฟุต) ใต้มหาสมุทรในวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 2012 Deepsea Challenge จึงเป็นผลผลิตจากความเชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกาสำหรับนักดำน้ำระดับโลกของ Rolex

ไทเทเนียม RLX

ไทเทเนียม RLX
เบาบางแต่ทานทน

ไทเทเนียม RLX คือไทเทเนียมอัลลอยเกรด 5 ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะของ Rolex รังสรรค์ขึ้นเพื่อให้มีน้ำหนักที่เบาและมีความทนทานต่อการเปลี่ยนรูปทรงและการขึ้นสนิม แม้นาฬิการุ่นทดลองที่ James Cameron สวมในร่องลึกมาเรียนาจะผ่านการทดสอบใต้น้ำมาอย่างไร้ที่ติ หากแต่น้ำหนักที่มากของสแตนเลสสตีล 904L ทำให้นาฬิกาเรือนนี้มีปัญหาในการสวมใส่ในระยะยาว ในขณะที่การใช้ไทเทเนียม RLX กับตัวเรือนและสายของ Deepsea Challenge ทำให้นาฬิกามีน้ำหนักเบาและเบาขึ้นจากรุ่นทดลองถึง 30 เปอร์เซ็นต์ นาฬิกาเรือนนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษอยู่ที่เกรนที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนบนพื้นผิวซาตินของสายนาฬิกาและตัวเรือน (ยกเว้นบริเวณขอบป้องกันเม็ดมะยม) โดยขอบด้านบนได้รับการลบมุมและขัดเงาเพื่อเผยรูปทรงอันโดดเด่นของขาสายนาฬิกา

Deepsea Challenge ผลิตขึ้นจากไทเทเนียม RLX พร้อมติดตั้งวาล์วคายฮีเลียมและระบบ Ringlock ในตัว และรองรับการสวมใส่เพื่อการดำน้ำในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำแบบฟรีไดฟ์ การดำน้ำแบบ submersible หรือในห้องปรับความดันบรรยากาศสูง

ระบบ Ringlock
การควบคุมแรงดัน

นาฬิกาสำหรับนักดำน้ำทุกเรือนของแบรนด์ได้ออกแบบมาเพื่อความลึกสูงสุดและติดตั้งระบบ Ringlock ที่ผ่านการจดสิทธิบัตรโดย Rolex การวิจัยที่อุทิศให้กับการกันน้ำของ Oyster ได้ขยายไปยังภาคส่วนอื่นๆ รวมถึงระบบนี้ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญที่เสริมการทำงานของตัวเรือนให้มีความแน่นหนา โดยมีการประกอบด้วยคริสตัลแซฟไฟร์ทรงโดม แหวนอัดเหล็กไนโตรเจน-อัลลอย และตัวเรือนด้านหลังทำจากไทเทเนียม RLX โดยโครงสร้างการทำงานนี้ได้ทำให้ Deepsea Challenge สามารถรับประกันการกันน้ำและมีประสิทธิภาพในการทนทานต่อแรงดันภายใต้ความลึก 11,000 เมตร (36,090 ฟุต) และจากความร่วมมือระหว่าง Rolex และ Comex (Compagnie Maritime d’Expertises) ทำให้สามารถพัฒนาถังแรงดันสูงพิเศษเพื่อทดสอบการกันน้ำของ Deepsea Challenge ได้สำเร็จ นาฬิกาแต่ละเรือนจึงได้รับการทดสอบตามมาตรฐานของนาฬิกาสำหรับนักดำน้ำ โดยมีอัตราความปลอดภัยเพิ่มเติมที่ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายถึงการมีประสิทธิภาพในการรองรับแรงดันภายใต้ความลึก 13,750 เมตร (45,112 ฟุต)

วาล์วคายฮีเลียม

วาล์วคายฮีเลียม
การจัดการกับแรงดัน

นักดำน้ำอาชีพมักใช้เวลาอย่างยาวนานในห้องปรับความดันบรรยากาศสูง ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีแก๊สผสมที่พวกเขาต้องหายใจเข้าไปโดยมีสัดส่วนของฮีเลียมในปริมาณมาก และเนื่องจากโมเลกุลที่มีขนาดเล็กมากของฮีเลียม มันจึงสามารถแทรกซึมเข้าสู่ตัวเรือนของนาฬิกาได้ ในระหว่างขั้นตอนการคลายแรงดันที่ช่วยให้นักดำน้ำสามารถขับแก๊สผสมที่เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายได้ดูดซับไว้และกลับคืนสู่ความดันปกตินั้น ฮีเลียมจะไม่สามารถหลุดออกจากตัวเรือนนาฬิกาได้อย่างรวดเร็วเสมอไป ปรากฏการณ์นี้อาจส่งผลให้เกิดแรงดันสะสมภายในนาฬิกา ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายกับนาฬิกาหรือแม้แต่คริสตัลก็อาจจะหลุดออกจากตัวเรือนได้ และเพื่อให้ขับแก๊สออกมาโดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการกันน้ำของนาฬิกา นาฬิกา Sea-Dweller นาฬิกา Rolex Deepsea และนาฬิกา Deepsea Challenge จึงได้ติดตั้งวาล์วคายฮีเลียมเอาไว้ โดยวาล์วแบบหมุนได้นี้จะเปิดใช้งานอัตโนมัติเมื่อมีแรงดันภายในตัวเรือนสูงเกินไป

เม็ดมะยม Triplock

เม็ดมะยม Triplock
เพิ่มประสิทธิภาพในการกันน้ำ

เม็ดมะยมไขลาน Triplock ที่เปิดตัวในปี 1970 นั้นมาพร้อมกับการเคลือบกันน้ำสองชั้นในส่วนก้านเม็ดมะยมและการเคลือบอีกชั้นในตัวของเม็ดมะยม ระบบกันน้ำสามชั้นทำให้นาฬิกาสำหรับนักดำน้ำของ Rolex ทนต่อการรั่วซึมมากขึ้น นาฬิกาที่มีระบบนี้จะมีตราสามจุดปรากฏอยู่ใต้ตราสัญลักษณ์ของ Rolex บนเม็ดมะยม การผลิตเม็ดมะยมอันก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเราจำเป็นต้องใช้ทักษะการผลิตที่มีความชำนาญเฉพาะทางเช่นเดียวกับการผลิตตัวเรือนและสายนาฬิกาของเรา

รับประกันความปลอดภัย

สายนาฬิกาและระบบการขยายสาย
นวัตกรรมการขยายสาย Rolex Glidelock และปรับสายแบบ Fliplock นี้ใช้งานได้อย่างสะดวกจนแทบไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่นๆ เพิ่มเติม สายนาฬิกา Oyster ของ Deepsea Challenge รังสรรค์ขึ้นจากไทเทเนียม RLX ตลอดสาย และมีทั้งระบบขยายสายแบบ Fliplock และระบบขยายสาย Rolex Glidelock การปรับสายทั้งสองแบบนี้ทำให้การสวมใส่นาฬิกากับชุดประดาน้ำที่มีความหนาถึง 7 มิลลิเมตรทำได้อย่างสะดวกสบาย
ขอบหน้าปัดแบบหมุนได้
ขอบหน้าปัด Deepsea Challenge แบบหมุนได้ทิศทางเดียวและมาพร้อมกับขอบหน้าปัด Cerachrom ที่มีขั้นบอกเวลา 60 นาที ขอบหน้าปัดนี้ช่วยให้การอ่านเวลาขณะอยู่ใต้น้ำทำได้สะดวก สำหรับขอบหน้าปัดนั้นจะหมุนไปในทิศทางเดียวเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการหมุนโดยไม่ตั้งใจซึ่งอาจทำให้เวลาในการดำน้ำคลาดเคลื่อนได้ ขอบหน้าปัดนี้ทำจากเซรามิกสีดำที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงซึ่งผ่านการพัฒนาและจดสิทธิบัตรโดย Rolex สามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้เป็นอย่างดี ทั้งยังคงสีสันที่งดงามตลอดเวลาและไม่เปลี่ยนสภาพแม้เผชิญกับแสงแดด
Chromalight
หน้าปัด Chromalight ที่เป็นเอกสิทธิ์ของ Rolex และนำเสนออย่างเป็นทางการในปี 2008 ในการเปิดตัวของ Rolex Deepsea นั้นโดดเด่นด้วยพรายน้ำเรืองแสงที่ได้นำมาใช้กับเข็มนาฬิกา มาร์คเกอร์ชั่วโมง และภายในแคปซูลบนขอบหน้าปัดแบบหมุนได้ สารนี้ประกอบด้วยอะลูมิเนียม สตรอนเชียม ดิสโพรเซียม และยูโรเพียม ซึ่งได้มาจากกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนและมีความละเอียดสูง โดยจะปล่อยแสงสีฟ้าที่มีลักษณะเฉพาะคือมีความสว่างเป็นพิเศษและเปล่งแสงออกมาได้อย่างยาวนาน ซึ่งนับว่าเป็นประสิทธิภาพที่เหนือกว่ามาตรฐานการผลิตนาฬิกาทั่วไปอย่างมาก
บรรยากาศของความท้าทายใต้ท้องทะเลลึก

คาลิเบอร์ 3230
การสำรองพลังงานที่ยาวนาน

กลไกคาลิเบอร์ 3230 ที่เปิดตัวในปี 2020 สามารถสำรองพลังงานได้ประมาณ 70 ชั่วโมง ซึ่งเป็นผลมาจากคุณสมบัติสองประการ ประการแรกคือความหนาของผนังกระปุกลานที่บางลงเพื่อการใส่สปริงที่ยาวขึ้นจึงสามารถเพิ่มปริมาณการเก็บพลังงานให้มากขึ้นได้ และอีกประการคือการทำงานของชุดกลไกปล่อยจักร Chronergy โดยชุดกลไกปล่อยจักร Chronergy ผลิตขึ้นจากนิกเกิล-ฟอสฟอรัสที่ผ่านการจดสิทธิบัตรแล้ว และเป็นการผนวกรวมกันของประสิทธิภาพด้านพลังงานอันยอดเยี่ยมและน่าเชื่อถือ และไม่เกิดผลกระทบใดๆ เมื่อต้องเผชิญกับการรบกวนจากสนามแม่เหล็ก