เบื้องหลังมงกุฎ

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นาฬิกาพกนับเป็นเครื่องบอกเวลาที่ได้รับความนิยมและสามารถใช้งานได้จริงมากที่สุด

Hans Wilsdorf ได้เริ่มต้นเส้นทางอาชีพของเขาในปี 1900 ด้วยการทำงานในบริษัทผลิตนาฬิกาแห่งหนึ่งใน La Chaux-de-Fonds และได้สังเกตเห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่มีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะความนิยมที่เพิ่มขึ้นในการเล่นกีฬาและการทำกิจกรรมกลางแจ้ง บุคคลที่ก่อตั้ง Rolex ในไม่อีกกี่ปีต่อมาผู้นี้ได้ตระหนักว่านาฬิกาพก ซึ่งจำเป็นต้องเก็บรักษาไว้ในห่อผ้านั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสำหรับการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ ชายผู้กล้าคิดกล้าทำและเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์จึงได้ตัดสินใจรังสรรค์นาฬิกาที่สวมใส่บนข้อมือได้ นาฬิกาที่เจ้าของสามารถไว้วางใจในความน่าเชื่อถือและความแม่นยำสำหรับวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย หนึ่งในความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่ Hans Wilsdorf ต้องเผชิญก็คือ การค้นหาวิธีเพื่อปกป้องนาฬิกาจากฝุ่นและความชื้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดตันหรือเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันได้หากเล็ดรอดเข้าไปด้านในตัวเรือน ในจดหมายปี 1914 เขาได้กล่าวถึงความตั้งใจของตนเองถึงบริษัท Aegler ในเมือง Bienne ซึ่งภายหลังได้กลายเป็น Manufacture des Montres Rolex S.A. ว่า “เราจำเป็นต้องหาทางผลิตนาฬิกาข้อมือกันน้ำให้ได้”

เราจำเป็นต้องหาทางผลิตนาฬิกาข้อมือกันน้ำให้ได้

Hans Wilsdorf ปี 1945

หนึ่งในความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่ Hans Wilsdorf ต้องเผชิญก็คือ การค้นหาวิธีเพื่อปกป้องนาฬิกาจากฝุ่นและความชื้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการอุดตันหรือเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันได้หากเล็ดรอดเข้าไปด้านในตัวเรือน ในจดหมายปี 1914 เขาได้กล่าวถึงความตั้งใจของตนเองถึงบริษัท Aegler ในเมือง Bienne ซึ่งภายหลังได้กลายเป็น Manufacture des Montres Rolex S.A. ว่า “เราจำเป็นต้องหาทางผลิตนาฬิกาข้อมือกันน้ำให้ได้”

Hans Wilsdorf

Rolex ได้เปิดตัวนาฬิการุ่น Submarine ในปี 1922 ที่มาพร้อมกับบานพับติดตั้งอยู่ภายในตัวเรือนส่วนนอกชั้นที่สอง ซึ่งมีการเจาะยึดขอบหน้าปัดและคริสตัลด้วยสกรู เพื่อทำให้ตัวเรือนส่วนนอกสามารถกันน้ำได้ และจำเป็นต้องเปิดตัวเรือนส่วนนอกเพื่อเข้าถึงเม็ดมะยมที่ใช้ในการไขลานนาฬิกา หรือตั้งเวลา นาฬิกา Submarine นับว่าเป็นก้าวแรกในความพยายามของ Hans Wilsdorf ในการรังสรรค์ตัวเรือนนาฬิกาที่ได้รับการปิดผนึกอย่างสมบูรณ์แบบและใช้งานง่าย

นาฬิกา

ตัวเรือน Oyster ที่เป็นผลิตผลจากความพยายามเหล่านี้ได้รับการจดสิทธิบัตรในอีกสี่ปีต่อมา ในปี 1926 ระบบการเจาะยึดด้วยสกรูของขอบหน้าปัด ตัวเรือนด้านหลัง และเม็ดมะยมไขลานเข้ากับตัวเรือนตรงกลางช่วยให้มั่นใจได้ว่าตัวเรือนได้รับการซีลแบบสุญญากาศ และช่วยปกป้องชิ้นส่วนภายในของนาฬิกาจากสิ่งที่เป็นอันตรายจากภายนอก Hans Wilsdorf เลือกที่จะตั้งชื่อให้นาฬิกาและตัวเรือนนี้ว่า “Oyster” เนื่องจากมีลักษณะ “เหมือนหอยนางรมที่สามารถอยู่ใต้น้ำได้อย่างไม่จำกัดระยะเวลา โดยที่ชิ้นส่วนภายในไม่ได้รับความเสียหาย” และการคิดค้นนี้ก็ได้กลายมาเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์แห่งการผลิตนาฬิกา

เพื่อทำให้คุณภาพอันเป็นเลิศของนาฬิกา Oyster เป็นที่รู้จักมากขึ้น ในปีต่อมา Hans Wilsdorf ตัดสินใจที่จะทำบางสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน หลังจากที่ทราบว่าเลขานุการหญิงจากไบรท์ตัน ประเทศอังกฤษ Mercedes Gleitze กำลังเตรียมตัวว่ายน้ำข้ามช่องแคบอังกฤษ ซึ่งหากเธอประสบความสำเร็จ เธอจะกลายเป็นหญิงชาวอังกฤษคนแรกที่ประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงได้ขอให้เธอสวมนาฬิกา Oyster ไปด้วยเพื่อแสดงให้ทุกคนเห็นได้ว่าตัวเรือนนี้สามารถกันน้ำได้อย่างสมบูรณ์แบบ หลังจากที่ Gleitze ว่ายน้ำอย่างทรหดในทะเลที่หนาวเหน็บ นักข่าวหนังสือพิมพ์ The Times ได้รายงานว่าเธอ “ได้พกนาฬิกาทองคำเรือนเล็กติดตัวไปด้วย เราพบว่านาฬิกาเรือนดังกล่าวยังคงสามารถบอกเวลาได้อย่างถูกต้อง”

Mercedes Gleitze
Oyster

Oyster คือนาฬิกาข้อมือกันน้ำเรือนแรกของโลกด้วยตัวเรือน Oyster ที่ได้รับการปิดผนึกสุญญากาศ

ตัวเรือน Oyster การปฏิวัติด้านดีไซน์

ตัวเรือน Oyster ที่ได้รับการปิดผนึกสุญญากาศอย่างสมบูรณ์แบบถือเป็นสัญลักษณ์ของนาฬิกา Rolex ตัวเรือนที่ได้รับการจดสิทธิบัตรในปี 1926 นี้ประกอบด้วยขอบหน้าปัด ตัวเรือนด้านหลัง และเม็ดมะยมไขลานที่เจาะยึดด้วยสกรูเข้ากับตัวเรือนตรงกลาง โดยชิ้นส่วนเหล่านี้ได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการกันน้ำของนาฬิกา และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของนักดำน้ำไปพร้อมกับพัฒนาวัสดุและเทคนิคในการดำน้ำ ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถดำดิ่งลงไปได้ลึกยิ่งกว่าเดิม

ตัวเรือน Oyster
สถาปัตยกรรม
ปี 1926

Bezel
ขอบหน้าปัดบนตัวเรือน Oyster รุ่นดั้งเดิมจะได้รับการเซาะร่องเพื่อให้สามารถเจาะยึดด้วยสกรูเข้ากับตัวเรือนตรงกลางได้โดยใช้เครื่องมือพิเศษของ Rolex เท่านั้น อีกทั้งโครงสร้างสถาปัตยกรรมของตัวเรือน Oyster ยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ มา เพื่อทำให้ตัวเรือนมีความทนทานและมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคที่นำมาใช้กับตัวเรือนสามารถติดตั้งเข้ากับขอบหน้าปัดแบบหมุนได้ โดยเฉพาะบนนาฬิกาสำหรับนักดำน้ำ
เม็ดมะยมบนตัวเรือน Oyster รุ่นดั้งเดิมได้รับการเจาะยึดด้วยสกรูเข้ากับตัวเรือนตรงกลาง และในปี 1953 Rolex ได้เปิดตัวเม็ดมะยมไขลาน Twinlock ซึ่งมาพร้อมกับระบบซีลสองชั้นที่ได้รับการจดสิทธิบัตร หลักการนี้ได้รับการพัฒนาให้ก้าวล้ำขึ้นไปอีกขั้นในปี 1970 ด้วยเม็ดมะยมไขลาน Triplock ที่ประกอบด้วยส่วนซีลเพิ่มเติม เพื่อเสริมศักยภาพในการกันน้ำของนาฬิการุ่นต่างๆ ที่ได้รับการติดตั้งเม็ดมะยมรุ่นนี้ โดยส่วนหนึ่งในนั้นเป็นนาฬิกาที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการดำน้ำของแบรนด์
The case back
จนถึงปัจจุบันนี้ด้านหลังตัวเรือน Oyster ยังได้รับการเซาะร่อง เพื่อให้สามารถเจาะยึดด้วยสกรูเข้ากับตัวเรือนตรงกลางได้อย่างแน่นหนา ด้านหลังตัวเรือนของนาฬิกาสำหรับนักดำน้ำในปัจจุบันทำจาก Oystersteel หรือทองคำ 18 กะรัต โดยขึ้นอยู่กับรุ่นและเวอร์ชันของนาฬิกา 

ใต้พื้นผิวท้องทะเล

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนที่ได้ผลักดันให้ Rolex คิดค้นตัวเรือนนาฬิกากันน้ำ แบรนด์หันมาให้ความสนใจกับการออกแบบและพัฒนานาฬิกาข้อมือที่ตอบโจทย์นักดำน้ำลึกมืออาชีพใหม่ๆ นาฬิการุ่น Submariner ได้รับการเปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 1953 และเป็นนาฬิกาข้อมือสำหรับนักดำน้ำเรือนแรกที่รับประกันขีดความสามารถในการกันน้ำที่ระดับความลึก 100 เมตร (330 ฟุต) ขอบหน้าปัดแบบหมุนได้ที่มาพร้อมกับขอบหน้าปัดแบบเป็นขั้นทำให้นักดำน้ำสามารถควบคุมเวลาดำน้ำ ซึ่งเป็นการช่วยบริหารจัดการปริมาณก๊าซสำหรับหายใจ อีกทั้งยังมีการยกระดับความปลอดภัยให้กับตัวเรือน Oyster ด้วยเม็ดมะยมที่ถูกยึดไว้ด้วยสกรูใหม่ที่ชื่อว่าระบบ Twinlock ที่มีส่วนที่ถูกซีลไว้สองส่วน

Submariner เรือนแรก

ในปี 1970 หลักการนี้ได้รับการพัฒนาให้ก้าวล้ำขึ้นไปอีกขั้นด้วยการเพิ่มส่วนที่ถูกปิดผนึกส่วนที่สาม นับเป็นการถือกำเนิดของเม็ดมะยมไขลาน Triplock เข็มนาฬิกาและเครื่องหมายบอกชั่วโมงได้รับการเคลือบด้วยสารเรืองแสง ช่วยให้นักดำน้ำสามารถอ่านเวลาในความมืดใต้น้ำได้ Rolex ยังเดินหน้าพัฒนาความเจริญรุดหน้าด้านเทคนิคเพื่อทำให้นาฬิการุ่น Submariner มีขีดความสามารถในการกันน้ำที่ 200 เมตร (660 ฟุต) ในปี 1954 และ 300 เมตร (1,000 ฟุต) ในปี 1989 นาฬิการุ่นที่สามารถบอกวันที่ได้เปิดตัวในปี 1969 และกันน้ำที่ความลึก 300 เมตร (1,000 ฟุุต) ในปี 1979

รับประกันการกันน้ำ

Rolex เป็นหนึ่งในแบรนด์แรกๆ ที่ร่วมออกเดินทางกับบุคคลมากมายที่โดดเด่นในการเดินทางและการสำรวจ ด้วยความตระหนักถึงแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทั้งสองฝ่ายและการมองว่าโลกใบนี้เปรียบดังห้องทดลองที่มีชีวิต Hans Wilsdorf จึงให้เหล่านักสำรวจพกพานาฬิกา Oyster ไปในภารกิจด้วย Rolex ได้ขอให้นักดำน้ำมืออาชีพสวมใส่เรือนเวลาของแบรนด์ในขณะปฏิบัติภารกิจเพื่อทดสอบความน่าเชื่อถือของนาฬิกา แล้วจึงรวบรวมความประทับใจ และคำแนะนำของพวกเขาไปดำเนินการปรับปรุงด้านการยศาสตร์ หรือทางเทคนิค และกระบวนการนี้ก็ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการพัฒนาของ Rolex

Dimitri Rebikoff

หนึ่งในกลุ่มคนที่ Rolex ได้ร่วมทำการทดลองนาฬิกา Submariner ด้วยคือนักถ่ายภาพใต้น้ำ วิศวกร และนักสำรวจสัญชาติฝรั่งเศส Dimitri Rebikoff ระหว่างการทดสอบนาฬิกาเป็นเวลากว่าห้าเดือน Rebikoff ได้ออกดำน้ำ 132 ครั้งในความลึกระหว่าง 12 ถึง 60 เมตร โดยรายงานของเขาออกมาในเชิงบวกเป็นอย่างมาก “เราขอยืนยันว่านาฬิกาเรือนนี้ไม่เพียงแต่สามารถทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมในสภาพแวดล้อมของการดำน้ำอันยากลำบากที่อาจทำลายวัสดุที่ใช้อยู่ได้ แต่นาฬิกาเรือนนี้ยังพิสูจน์ให้เห็นอีกด้วยว่ามันคือหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับนักดำน้ำ” 

เปิดประสบการณ์สู่โลกใต้ทะเลลึก

โครงการด้านวิทยาศาสตร์ใต้น้ำและภารกิจสำรวจหลายภารกิจได้มอบโอกาสสุดพิเศษให้ Rolex ทดสอบนาฬิกาของแบรนด์ในสภาพแวดล้อมจริง แบรนด์ได้ร่วมมือกับหนึ่งในโครงการดังกล่าวในปี 1960 โดยมี Jacques Piccard นักมหาสมุทรศาสตร์ชาวสวิส และร้อยโท Don Walsh แห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นผู้นำร่องการสำรวจเมื่อวันที่ 23 มกราคม พร้อมกับยานสำรวจน้ำลึก Trieste ที่ได้รับการออกแบบโดยบิดาของ Jacques ชื่อ Auguste Piccard ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ และนักสำรวจชาวสวิสที่ Rolex ได้ร่วมงานด้วยตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 โดย Piccard และ Walsh ประสบความสำเร็จในการดำน้ำไปยังร่องลึกมาเรียนาในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นส่วนที่ลึกที่สุดในมหาสมุทรของโลก

การติดตั้ง

พร้อมกับติดตั้งนาฬิกา Rolex รุ่นทดลองที่มีชื่อว่า Deep Sea Special ไว้ภายนอกยานสำรวจเพื่อดำดิ่งร่วมกับชายทั้งสองคนไปยังห้วงทะเลลึก 10,916 เมตร (35,814 ฟุต) คริสตัลทรงโดมบนนาฬิการุ่นทดลองได้รับการออกแบบมาเพื่อทนทานต่อแรงดันอันมหาศาลในระดับความลึกดังกล่าว ในขณะที่ Trieste โผล่ขึ้นพ้นผิวน้ำหลังปฏิบัติภารกิจใต้ท้องทะเลมาเป็นระยะเวลา 8 ชั่วโมงกว่า เราพบว่านาฬิกายังสามารถแสดงเวลาได้อย่างดีเยี่ยม และเป็นการยืนยันถึงตัวเลือกทางเทคนิคที่แบรนด์ได้ตัดสินใจในระหว่างการออกแบบ ซึ่งอาจเป็นเวลากว่าหลายทศวรรษก่อนที่การสำรวจเช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้ง

นาฬิกา
Sea-Dweller

ในระหว่างทศวรรษ 1960 มีการพัฒนาเทคนิคที่ช่วยให้สามารถดำน้ำได้ยาวนานขึ้น แม้อยู่ในระดับความลึกที่มากขึ้น หนึ่งในวิธีการใหม่ๆ เหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้นักดำน้ำสามารถทำงานกับโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเลได้ ตัวอย่างเช่น การดำน้ำแบบ “Saturation” ส่วนผสมพิเศษที่ผสานแก๊สหายใจเข้ากับแก๊สฮีเลียมในปริมาณมากช่วยให้นักดำน้ำสามารถอยู่ใต้ท้องทะเลได้เป็นเวลานานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ และหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์จากแรงดันใต้น้ำลึก ทั้งนี้ ยังเกี่ยวข้องกับการให้นักดำน้ำอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่มีแรงดันเทียบเท่ากับแรงดันน้ำในระดับความลึกที่พวกเขาปฏิบัติภารกิจ

โดยนักดำน้ำจะต้องอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่มีการปรับแรงดัน หรือห้องปรับความดันบรรยากาศสูงเป็นระยะเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ซึ่งจะออกไปก็ต่อเมื่อต้องดำน้ำเท่านั้น นั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องเข้าสู่กระบวนการคายแรงดันเพียงในช่วงท้ายของภารกิจ ซึ่งกระบวนการคายแรงดันอาจใช้เวลาตั้งแต่สิบกว่าชั่วโมงไปจนไปถึงหลายวัน โดยขึ้นอยู่กับเวลาที่ใช้ใต้น้ำ

Sea-Dweller เรือนแรก
Sea-Dwellers

เมื่ออยู่ในห้องปรับความดันบรรยากาศสูง นาฬิกาที่นักดำน้ำสวมใส่จะค่อยๆ เต็มไปด้วยฮีเลียม ซึ่งเป็นแก๊สที่มีอะตอมขนาดเล็กมากจนสามารถแทรกซึมผ่านซีลกันน้ำได้ และในระหว่างการคายแรงดัน แก๊สฮีเลียมที่ติดอยู่ภายในตัวเรือนของนาฬิกานั้นมีความเสี่ยงในการสร้างส่วนต่างของแรงดันที่แตกต่างจากแรงดันในห้องปรับบรรยากาศ เนื่องจากแก๊สฮีเลียมไม่สามารถออกจากตัวเรือนของนาฬิกาได้อย่างรวดเร็วเท่ากับแรงดันภายนอกที่ลดต่ำลง ซึ่งอาจทำให้นาฬิกาเสียหาย หรือบีบให้คริสตัลดันออกมานอกตัวเรือน และในปี 1967 Rolex ได้จดสิทธิบัตรวาล์วคายฮีเลียม ซึ่งเป็นวาล์วนิรภัยที่จะเปิดใช้งานอัตโนมัติทันทีที่แรงดันภายในตัวเรือนมีค่าสูงเกินไปและยอมให้แก๊สส่วนเกิดเล็ดลอดออกมาได้

ในปีเดียวกัน Rolex ได้เปิดตัวนาฬิการุ่น Sea-Dweller นาฬิกาสำหรับนักดำน้ำที่รับประกันขีดความสามารถในการกันน้ำที่ 610 เมตร (2,000 ฟุต) และเพิ่มขึ้นเป็น 1,220 เมตร (4,000 ฟุต) ในปี 1978 โดยมาพร้อมกับวาล์วคายฮีเลียม และนับว่าเป็นเครื่องมือที่มีความเหมาะสมกับนักดำน้ำแบบ Saturation รวมถึงเหล่านักสำรวจ และนักบุกเบิกใต้ท้องทะเลลึก จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แบรนด์ได้ร่วมมือกับโปรเจกต์การใช้ชีวิตใต้น้ำ Tektite ในปี 1969 โดยมีนักสำรวจใต้ทะเล 4 คนที่ใช้เวลาอยู่ใต้น้ำนาน 58 วัน ซึ่งต่างก็สวมใส่นาฬิกาของ Rolex และในปีต่อมา ในฐานะส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ Tektite II โดยผู้นำภารกิจหญิงล้วน Sylvia Earle นักชีววิทยาทางทะเลที่ดำรงตำแหน่ง Rolex Testimonee นับตั้งแต่ปี 1982 และยังเป็นนักสำรวจ Explorer-in-Residence ของสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ตั้งแต่ปี 1999 ได้สวมนาฬิกา Rolex ระหว่างใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์เพื่อทำงานในห้องใต้น้ำ

สถิติความลึกที่ 520 เมตร

ในปี 1967 Rolex ได้เริ่มสัมพันธภาพกับ HYCO (International Hydrodynamics Company) บริษัทสัญชาติแคนาดาที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเรือดำน้ำ นาฬิกา Rolex Sea-Dweller ได้ถูกติดตั้งไว้ที่ด้านนอกของเรือดำน้ำ HYCO ในภารกิจต่างๆ มากมาย หลังการดำน้ำที่ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงที่ระดับความลึก 411 เมตร (1,350 ฟุต) HYCO ได้ส่งข้อมูลสรุปเกี่ยวกับประสิทธิภาพของนาฬิการุ่น Sea-Dweller ให้แก่ Rolex ว่า “นาฬิกาสามารถทำงานได้อย่างดีเยี่ยมในระหว่างทุกขั้นตอนการทดสอบ”

นาฬิกาสามารถทำงานได้อย่างดีเยี่ยมในทุกขั้นตอนการทดสอบ

HYCO ปี 1967

Rolex ได้เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับ Comex (Compagnie Maritime d’Expertises) ในปี 1971 บริษัทวิศวกรรมทางทะเลสัญชาติฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ที่เมืองมาร์เซย์นี้ตกลงที่จะให้นักดำน้ำของบริษัทสวมใส่นาฬิกาของ Rolex และรายงานประสิทธิภาพของนาฬิกาเป็นประจำเพื่อให้แบรนด์สามารถยกระดับความน่าเชื่อถือและระบบการทำงาน นอกจากนี้ Comex ยังได้ดำเนินการทดสอบเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานของบริษัทควบคู่ไปกับการทดลองนอกชายฝั่งอีกด้วย

หนึ่งในเทคโนโลยีเหล่านี้คือ ห้องปรับความดันบรรยากาศสูงที่สามารถจำลองแรงดันในระดับความลึกและเป็นอันตรายต่อนักดำน้ำรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ในปี 1988 Comex ได้ทำภารกิจสำรวจ Hydra VIII โดยมีนักดำน้ำแบบ Saturation 6 คนดำดิ่งสู่ระดับความลึก 534 เมตร (1,752 ฟุต) พร้อมกับสร้างสถิติการดำน้ำลึกระดับโลก ซึ่งยังไม่มีใครสามารถทำลายสถิติได้จนถึงทุกวันนี้ และพวกเขาทุกคนต่างก็สวมใส่นาฬิการุ่น Sea-Dweller และในอีกไม่กี่ปีต่อมา ในปี 1992 นักดำน้ำของ Comex ในโครงการทดสอบ Hydra X สามารถอยู่ในห้องปรับความดันบรรยากาศสูงที่จำลองระดับความลึกที่ 701 เมตร (2,300 ฟุต) ได้ และเขาได้สวมใส่นาฬิกา Sea-Dweller อยู่เสมอในตลอด 43 วันที่เขาทำภารกิจ

Deepsea Challenger

ดำดิ่งสู่จุดที่ลึกที่สุด

Rolex ยังคงท้าทายต่อแรงดันใต้น้ำอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อทำให้นาฬิกามีความสมบูรณ์แบบ และในปี 2008 แบรนด์ได้นำเสนอเรือนเวลา Rolex Deepsea ที่มีการติดตั้งระบบ Ringlock สถาปัตยกรรมตัวเรือนที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ซึ่งทำให้นาฬิการุ่นนี้สามารถทนทานต่อแรงดันในระดับความลึก 3,900 เมตร (12,800 ฟุต) ได้ ระบบดังกล่าวประกอบด้วยคริสตัลแซฟไฟร์ทรงโดม แหวนอัดสตีลไนโตรเจนอัลลอย และตัวเรือนด้านหลังทำจากอัลลอยไทเทเนียม ขอบหน้าปัดหมุนได้ทิศทางเดียวของ Rolex Deepsea มาพร้อมกับขอบตัวเรือน Cerachrom สีดำ แสดงเวลา 60 นาที ซึ่งจะช่วยให้นักดำน้ำสามารถควบคุมเวลาดำน้ำได้อย่างปลอดภัย

คุณสมบัติของเซรามิกที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงนี้ได้ทำให้ขอบหน้าปัดมีความทนทานที่เป็นเลิศ ป้องกันรอยขีดข่วนได้อย่างแท้จริง และสีจะยังคงเหมือนเดิมแม้เวลาผ่านไป ไม่ซีดจางจากผลกระทบของรังสีอัลตราไวโอเลต นาฬิกาสำหรับความลึกสุดขีดเรือนนี้ยังมาพร้อมกับหน้าปัดโครมาไลท์ นวัตกรรมสุดพิเศษที่ช่วยยกระดับความสามารถในการอ่านได้ชัดเจน โดยสารเรืองแสงที่ปล่อยแสงสีฟ้าออกมานี้ได้ถูกนำมาใช้กับเข็มนาฬิกา เครื่องหมายบอกชั่วโมง และแคปซูลบนขอบหน้าปัด อีกทั้งระยะเวลาการเปล่งแสงยังยาวนานกว่ามาตรฐานวัสดุเรืองแสงทั่วไปถึงสองเท่า และความเข้มของแสงที่เปล่งออกมายังมีความสม่ำเสมอมากกว่า

Deepsea Challenge

นาฬิกาสำหรับนักดำน้ำทุกเรือนของ Rolex ได้รับการทดสอบในระดับความลึกที่รับประกันการกันน้ำ และมีส่วนเผื่อความปลอดภัยเพิ่มเติมถึง 25 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นไปตามมาตรฐานนาฬิกาประเภทนี้ การทดสอบอย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้หมายความว่าในห้องปฏิบัติการ ภายในถังปรับความดันบรรยากาศสูงที่ได้รับการพัฒนาร่วมกันโดย Rolex และ Comex นาฬิการุ่น Rolex Deepsea (ที่รับประกันการกันน้ำได้ถึง 3,900 เมตร) จะต้องได้รับการทดสอบแรงดันที่ระดับความลึก 4,875 เมตร

Rolex Deepsea ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Rolex Deepsea Challenge นาฬิกาสำหรับนักดำน้ำรุ่นทดลองเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2012 ซึ่งได้รับการติดตั้งเข้ากับแขนกลของยานดำน้ำลึกที่นำร่องโดยนักสำรวจและนักสร้างภาพยนตร์ James Cameron เพื่อดำดิ่งลงไปสู่ร่องลึกมาเรียนา โดยเป็นจุดที่ Jacques Piccard และ Don Walsh ได้มาเยือนก่อนหน้านี้ในปี 1960 ด้วยการรับประกันการกันน้ำที่ความลึกถึง 12,000 เมตร (39,370 ฟุต) นาฬิการุ่นนี้ได้รวมเอานวัตกรรมเชิงเทคนิคในด้านการกันน้ำของแบรนด์มาไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังประสบความสำเร็จในการทนแรงดันที่ระดับความลึก 15,000 เมตรในช่วงการทดสอบ และในความลึกระดับดังกล่าว วงแหวนตรงกลางของระบบ Ringlock ต้องรับแรงดันน้ำซึ่งเทียบเท่ากับน้ำหนักถึง 20 ตัน

James Cameron